แนวคิด

แนวคิดพื้นฐานในการบริหารการเงินส่วนบุคคล 


David Berky ประธานบริษัท Simple Joe, Inc. ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ทางการเงินได้ให้แนวคิดพื้นฐานในการบริหารการเงินส่วนบุคคลไว้ 4 ประการได้แก่

1. บริหารการเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน (Security) การดำเนินชีวิตในปัจจุบันมักจะอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ซึ่งแต่ละท่านมีความเสี่ยงไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน เนื่องจากแต่ละท่านมีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ความเสี่ยงจากการตกงาน ความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ดังนั้น ในการบริหารการเงินส่วนบุคคลจึงควรที่จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเกิดความเสี่ยงขึ้นในชีวิต เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตนั่นเอง การบริหารการเงินที่สามารถกระทำได้ ได้แก่ การทำประกันชีวิต การประกันสุขภาพ การประกันการว่างงาน และการกันเงินออมส่วนหนึ่งไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เป็นต้น

2. บริหารการเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิต (Stability) หลักการในข้อนี้คือ ไม่ใช้จ่ายเกินรายได้ที่มีอยู่ และไม่พยายามสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ตัวอย่าง การใช้จ่ายมากกว่ารายได้ เช่น การซื้อสินค้าราคาแพงผ่านบัตรเครดิต โดยคิดว่าในอนาคตจะมีรายได้เพิ่มพอที่จะจ่ายคืนได้ ถือว่าเป็นการนำเงินออมในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า ในทางตรงกันข้าม หากภาระหนี้สินที่มีอยู่เป็นหนี้สินที่จะก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต เช่น ซื้ออสังหาริมทรัพย์ด้วยวิธีการผ่อนชำระแล้วนำให้ผู้อื่นเช่า กรณีเช่นนี้ถือการลงทุน สำหรับการบริหารเงินเพื่อสร้างความมั่นคง สามารถทำได้โดย การทำงบประมาณรับจ่าย ซึ่งจะทำให้ทราบว่ามีรายได้เท่าใด ควรจะใช้จ่ายเท่าใด และควรจะเก็บออมไว้เท่าใด 

3. การบริหารการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่ง (Growth) หลังจากที่สามารถบริหารการเงินเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตได้แล้ว ดังนั้น เมื่อมีเงินออมก็สามารถจะเริ่มคิดถึงการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง โดยอาจจะเริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การลงทุนในกองทุน ตราสารเงิน พันธบัตรรัฐบาล หุ้น กองทุนรวมประเภทต่างๆ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนควรเริ่มลงทุนจากเงินจำนวนน้อย เพื่อประเมินว่ามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเพื่อความไม่ประมาท 

4. การป้องกันและบริหารความมั่งคั่ง (Protection and Management) หลังจากที่มีการลงทุนแล้วประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ การรักษาระดับความมั่งคั่งให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น หาที่ปรึกษาทางการเงินให้มาดูแลความมั่งคั่ง การทำประกันอัคคีภัยสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล เป็นการวางแผนการใช้เงิน การออมเงินตลอดจนการลงทุนให้เกิดความสมดุลกับรายได้ที่ได้ของบุคคลนั้น เพื่อสร้างนิสัยทางการเงินที่ดี

ขั้นตอนในการวางแผนการเงิน 

1. กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางการเงิน การวางแผนการเงินควรสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิต (Personal Goals in Life) ซึ่งเป้าหมายในชีวิตของบุคคล แต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปกล่าวคือเป้าหมายชีวิตของแต่ละคนสามารถแบ่งออกเป็น

ก. เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเงิน (Financial Goals) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินของบุคคล ที่จะส่งผลให้ฐานะการเงินส่วนบุคคลมีการเปลี่ยนแปลง

ข. เป้าหมายที่ไม่เกี่ยวกับเงิน (Nonfinancial Goals) กล่าวคือ บางครั้งเงินก็ไม่ใช่สิ่งบุคคลมุ่งหวังเสมอไป ทัศนคติ ความนึกคิด เกี่ยวกับ ครอบครัว สังคม ศีลธรรมและศาสนา อาจมีค่าสำคัญกว่าเงินก็ได้ เพราะบางคนถือว่า เงินไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต โดยทั่วไปการวางแผนชีวิตของบุคคลมักจะแบ่งเป็น 

แผนระยะสั้น (Short-term or current planning) ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการบริหารสินทรัพย์สภาพคล่อง
แผนระยะยาว (Long-term Planning) ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับ การสร้างฐานะความมั่นคงของบุคคลในอนาคต

ในขั้นตอนนี้เป็นการกำหนดเป้าหมายทางการเงินว่า ต้องการในเรื่องอะไร และต้องใช้เวลาเท่าใดจึงจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เช่น ประสงค์ที่จะเกษียณการทำงานตอนอายุเท่าไร เมื่อเกษียณการทำงานแล้วมีความประสงค์จะใช้เงินเดือนละเท่าไร เป็นต้น

2. รวบรวมข้อมูลทางการเงิน เป็นการรวบรวมข้อมูลทางการเงินของตนเอง เพื่อใช้วางแผนทางการเงิน ซึ่งข้อมูลทางการเงินประกอบด้วย ข้อมูลทางการเงินและเอกสารทางการเงินต่างๆ เช่น สมุดเงินฝากธนาคาร ตั๋วสัญญา
ใช้เงิน สัญญาการกู้ยืมเงิน เงินเดือน รายได้เสริม ค่าใช้จ่ายต่างๆ (ถ้ามีใบเสร็จรับเงินยิ่งดี) เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการลงทุน ทะเบียนรถ โฉนดที่ดิน กรมธรรม์ประกันชีวิต และกรมธรรม์ประกันภัย เป็นต้น การรวบรวมข้อมูลทางการเงินเป็นข้อมูลขั้นพื้นฐานของการวางแผนทางการเงิน

3. วิเคราะห์และประเมินสถานะทางการเงิน นำข้อมูลที่ได้มาจากข้อ 2 มาวิเคราะห์ เพื่อหาสถานะทางการเงินที่เป็นปัจจุบันว่าขณะนี้มีเงินมีฐานะการเงินอย่างไร กล่าวคือ จะต้องหารายได้เสริมอีกเท่าจึงจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้หรือยังมีเงินออมที่เหลืออยู่ กรณีเช่นนี้จะต้องหาแหล่งลงทุนเพื่อนำเงินที่ออมไปลงทุนจะได้มีดอกผลที่เพิ่มขึ้น

4. จัดทำแผนทางการเงิน หลังจากวิเคราะห์และประเมินสถานะทางการเงินแล้วอาจพบเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ การจัดทำแผนการเงินในขั้นตอนนี้คือ การเขียนแผนการเงินที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งหาทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับการหารายได้เสริม หรือหาแหล่งเงินลงทุนที่เหมาะสมสอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ 

5. นำแผนทางการเงินที่จัดทำแล้วไปปฏิบัติ ขั้นตอนนี้เป็นการปฏิบัติตามแผนที่ได้เขียนไว้ ว่าต้องปฏิบัติอะไรบ้างในกรอบเวลาใด เช่น ต้องหารายได้เสริมเป็นจำนวนเงินเท่าใดในช่วงเวลาใด ต้องนำเงินไปลงทุนในทางเลือกที่กำหนดไว้ตามแผนการเงินที่วางไว้ (ข้อ4)

6. ติดตามและกำกับให้เป็นไปตามแผนทางการเงินที่วางไว้ หลังจากที่ได้ปฏิบัติไปตามแผนทางการเงินที่วางได้ระยะหนึ่งแล้ว ต้องทำการทบทวนและปรับปรุงแผนทางการเงินที่วางไว้ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถปฏิบัติไปตามแผนทางการเงินที่วางไว้ แต่ด้วยสภาวการณ์ในปัจจุบันอาจมีความแตกต่างจากสภาวการณ์ในอดีต (ในขณะที่ทำแผนการทางการเงิน) จึงทำให้ต้องมีการปรับแผนการทางการเงินเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการทบทวนแผนทางการเงินอย่างน้อยปีละ1 ครั้ง ถ้าสภาวการณ์ในปัจจุบันไม่แตกต่างจากสภาวการณ์ในอดีตมากนัก ความถี่ของการทบทวนแผนทางการเงินจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความผันผวนของสภาวการณ์ในปัจจุบัน (สภาวการณ์ในที่นี้ หมายถึง เศรษฐกิจ สังคม การเมืองตลอดจนความมั่งคงในอาชีพ) อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ มักเกิดจากการไม่มีวินัยทางการเงินในตนเอง หรือ ในขณะที่วางแผนทางการเงินได้กำหนดเป้าไว้ไว้สูงเกินกว่าที่จะทำได้จึงไม่สามารถปฏิบัติตามแผนการเงินที่วางไว้ได้ ในขณะเดียวกันการปฏิบัติตามแผนการที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด ไม่มีความยืดหยุ่นก็อาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน เพราะแผนการเงินที่จัดทำไว้มักถูกกระทบโดยปัจจัยหลายด้าน เช่น ความมั่นคงในอาชีพ ภาวะเศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม อัตราผลตอบแทน นโยบายของรัฐบาล ความมั่นคงทางการเมือง เป็ นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านีมี้ความไม่แน่นอน และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

ดังนั้น การวางแผนทางการเงินที่ดี จึงควรมีการทบทวน (Review) และปรับปรุง (Revise) แผนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเดินทางไปยังเป้าหมายเป็นการเดินทางที่อยู่บนเส้นทางแห่งความเป็นจริง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น